สถาปนิกกับซินแส ปัญหาโลกแตกที่แก้ได้
คู่ปรับคลาสสิคแห่งวงการสร้างบ้าน จะทำยังไงให้สมานมิตรกัน
POV: คุยคอนเซ็ปต์กับลูกค้าอยู่หลายวัน กว่าจะกลั่นกรองไอเดียออกมาเป็นแบบบ้านที่ผ่านฉลุย ดีใจยังไม่ทันไร ก็เจอเรื่องช็อตฟีลแสนล้านโวลต์ เมื่อซินแสโผล่มาฟันธงว่าสิ่งที่ออกแบบไว้ “ผิดฮวงจุ้ย” !!!
เจอแบบนี้เซ็งแหละ แต่ก็ต้องยอมรับว่าดีไซน์กับฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ที่หนีกันไม่พ้นในวัฒนธรรมไทย ยิ่งคนเผชิญความท้าทาย ก็ยิ่งต้องการตัวช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ การฝืนสู้แรงศรัทธาด้วยหลักสถาปัตยกรรมจะไม่ทำให้เราชนะ ทางออกที่ดีกว่าคือหาจุดร่วมตรงกลางด้วยวิธีเหล่านี้
1. รู้เรื่องฮวงจุ้ยไว้ ตั้งการ์ดรับซินแสง่ายขึ้น
ก่อนไปเจอซินแส สถาปนิกควรปูพื้นฐานความเข้าใจในศาสตร์ฮวงจุ้ยที่มีมานับพันปีไว้บ้าง คำว่า “ฮวง” แปลว่าลม ส่วน “จุ้ย” แปลว่าน้ำ พอถอดความหมาย จะเห็นว่าวิชานี้ตั้งต้นจากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปราศจากน้ำหนักทางวิทยาศาสตร์ แก่นแท้ของฮวงจุ้ยว่าด้วยความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างพลังงานหมุนเวียนรอบข้าง (Chi) กับบุคคลในเรื่องราว หากผสานทุกส่วนเข้าด้วยกันได้ จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของคนในบ้าน
สถาปนิกบางกลุ่มต่อต้านซินแสเพราะคิดว่าฮวงจุ้ยคือไสยศาสตร์ แต่ในความจริง ฮวงจุ้ยเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งแสวงหาสมดุลความสุขจากธรรมชาติ ซินแสมืออาชีพจะมุ่งบริหารพลังงานดิน น้ำ ลม แสงสว่าง พิกัด รูปลักษณ์ สีสัน ให้สอดประสานกับพลังงานและวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยสามารถอธิบายหลักการ ที่มาที่ไป รวมถึงผลลัพธ์ของการจัดพื้นที่และสิ่งของทุกอย่างได้ เมื่อผู้อยู่ได้รับการส่งเสริมพลังบวก สุขภาพกายใจย่อมดี โอกาสนำพาชีวิตไปในทิศทางที่ถูกต้องและเข้าใกล้ความสำเร็จก็สูงตามมา
2. สถาปนิกกับซินแส แท้จริงแล้วจุดหมายเดียวกัน
ถึงแนวคิดตั้งต้น ความถนัดและเนื้องานของสถาปนิกกับซินแสจะแตกต่าง แต่ทั้งคู่ก็มีจุดมุ่งหมายในการออกแบบเพื่อยกระดับชีวิตเจ้าของบ้านเหมือนกัน ชาวเต็คและซินแสต่างเข้าใจว่าบ้านแต่ละหลังเป็น Customised Creation เฉพาะบุคคล และใช้ความชำนาญสร้างสภาวะที่สุขกายสบายใจ สะท้อนตัวตนคนอาศัยที่สุด หากยอมรับจุดร่วมนี้ จะพบว่าแก่นพลังฮวงจุ้ยไม่ได้ฉีกจากหัวใจของสถาปัตยกรรมมากมาย และหลายข้อก็นำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบปัจจุบันได้
ในขณะที่สถาปนิกเปรียบเหมือนผู้ออกแบบเสื้อผ้าหน้าผมเพื่อขับจุดเด่น พรางจุดด้อย โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม ซินแสก็ทำหน้าที่เสริมสง่าราศีให้ตัวบุคคลผ่านการคำนวณพื้นดวงและพลังงานของสถานที่ พลังไหนดีก็เพิ่มให้ทวีคูณ ส่วนพลังไหนเป็นลบ ก็หาทางกลบหรือแก้ไข เช่นเดียวกับการออกแบบสไตล์ ถ้าเราสามารถมองซินแสเป็นทีมเดียวกันและหาวิธีร่วมงานอย่างลงตัวได้ โจทย์ซินแสจะช่วยให้การออกแบบสนุกท้าทายขึ้นแน่นอน
3. เคลียร์คัทลูกค้าสายมู นัดซินแสมาดูแต่แรก
แม้โลกจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน หลายๆ ครอบครัวหรือธุรกิจก็ยังให้ความสำคัญกับศาสตร์ฮวงจุ้ย สถาปนิกจึงต้องเคารพความเชื่อส่วนบุคคลข้อนี้ เพียงแต่ควรมี Requirement พูดคุยเรื่องบทบาทและขอบเขตของซินแสให้ชัด จากนั้นควรนัดทุกฝ่ายลงพื้นที่ เคาะทิศทางและองค์ประกอบสำคัญก่อนเริ่มงาน แล้วให้ซินแสมีส่วนในการตรวจแบบขั้นต้น ตรงไหนห้ามวางอะไร อยากเปลี่ยนองศาหรือเสริมงานดีไซน์รูปแบบใด ก็เคาะพร้อมกันในขั้นตอนนั้น
บางครั้งตำแหน่งสถานที่อาจขัดใจซินแส แต่เหมาะกับงบประมาณและตัวเลือกในการก่อสร้าง การหาจุดกึ่งกลางของทุกความต่างแต่แรกจะช่วยให้งานราบรื่น ป้องกันความขัดแย้งระหว่างทาง ตลอดจนลดความเสี่ยงที่จะต้องมาปรับรื้อภายหลัง ซึ่งเสียทั้งเงิน เวลาและกำลังใจในการดีไซน์ ในกรณีที่ซินแสไม่สามารถวางแผนผังล่วงหน้าได้ สถาปนิกอาจใช้นโยบายงดรับงาน เพราะมีสิทธิ์เจอสถานการณ์เหนือความคาดหมายไม่สิ้นสุด ที่สำคัญ หากลูกค้าจะเชิญซินแสมาดูบ้านที่เสร็จสมบูรณ์ ก็ต้องรีเควสให้เป็นซินแสคนเดิมด้วย
🙌🏽 Streamline Architectural #DesignOperation with HTCH ("hatch") – 𝘺𝘰𝘶𝘳 𝘤𝘰𝘭𝘭𝘢𝘣𝘰𝘳𝘢𝘵𝘪𝘷𝘦 𝘸𝘰𝘳𝘬𝘱𝘭𝘢𝘤𝘦 𝘧𝘰𝘳 𝘢𝘳𝘤𝘩𝘪𝘵𝘦𝘤𝘵𝘶𝘳𝘦 𝘥𝘦𝘴𝘪𝘨𝘯 𝘪𝘯𝘯𝘰𝘷𝘢𝘵𝘪𝘰𝘯. 📐
✏️ Comment on anything, including 3D Models, PDFs, and Images, all in one place ✅
Learn more – https://www.htch.app/