ธุรกิจดีไซน์…สร้างแบรนด์อย่างไรให้โลกจำ!
“มีของดี แต่ถูกลืมง่าย” อย่าให้ธุรกิจเจอทางตันนี้
ในยุคที่มือโปรด้านออกแบบเต็มตลาดออนไลน์ ไถฟีดไป โซเชียลก็รู้ใจ ส่งบริการกราฟฟิค สถาปนิก อินทีเรียดีไซน์มาให้รัวๆ เหมือนเสกได้
คำถามคือ หากสตูดิโอของคุณเป็นหนึ่งในนั้น จะมีวิธีการสะกดคนให้หยุดและจดจำอย่างไร ในเมื่อข้อเสนอแต่ละแห่งคล้ายๆ กัน
ไม่แปลกที่บางเจ้าพยายามดึงลูกค้าด้วยโปรโมชั่น ซื้อแพ็คเกจนั่นแถมนี่ บางสตูดิโอเลือกยิงแอดจนค่าโฆษณาบานเบอะ สุดท้ายเจอแต่ลูกค้าขาจรหรือเรื่องเยอะ กำไรน้อย แถมขัดใจหน่อยก็โวย
นั่นเพราะคนดีไซน์เหล่านั้น ‘ขายตัวเอง’ ด้วยส่วนลดหรือการปรากฏตัวถี่ๆ เพียงหนึ่งมิติ โดยไม่สร้างภาพจำ ทำให้ถูกคู่แข่งแทนที่ง่าย วันนี้เราจึงนำเทคนิคสร้างแบรนด์ให้โลกจำมาฝาก ใครอยากให้กิจการฮิตติดชาร์จ ลงมือจัดการเลย
1. เปลี่ยนขายตรงเป็นเล่าเรื่องตรงใจ (Emotional Storytelling)
นักจิตวิทยาการรู้คิด Jerome Burner บอกไว้ว่า “คนจดจำเนื้อหาที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวดีกว่าข้อเท็จจริงถึง 22 เท่า” บ่อยครั้งที่เราใช้อารมณ์เป็นตัวชี้วัด และโดนป้ายยาให้ตัดสินใจซื้อสินค้าจากเรื่องราว เราจำชื่อรุ่นหรือฟีเจอร์มือถือไม่ได้จนเห็นกระแสเรียกเสียงฮือฮาหรือคำพูดสะกดใจในหนังโฆษณา หรือเราอาจตั้งใจจะคุมอาหาร แต่พอเห็นคลิปยั่วน้ำลายตรงหน้าก็เปลี่ยนใจทันควัน
การเล่าเรื่องที่ติดตรึงอยู่ในความคิดหรือดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้คล้อยตามจะเพิ่มการจดจำให้ธุรกิจดีไซน์ อย่างไรก็ดี Emotional Storytelling ไม่ได้กินความหมายแค่การส่งสารทัชใจจากฝั่งแบรนด์ แต่ยังรวมถึงการหมั่นสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) เพื่อให้เข้าใจมุมมองกลุ่มเป้าหมาย เช่น จัดกิจกรรมให้ผู้ติดตามมีส่วนร่วม แชร์คอนเทนต์เรียลไทม์ เสนอข้อมูลเป็นประโยชน์แบบไม่แฝงขาย ซึ่งจะสร้างความผูกพันเชิงอารมณ์ได้ลึกซึ้ง แถมทำให้คนฟังรู้สึกถึงคุณค่าที่แบรนด์ตั้งใจมอบด้วย
2. รู้จักกลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์ได้ถูกจุด (Audience Targeting)
เรื่องราวที่แบรนด์ถ่ายทอดออกไปจะมี Impact และสร้างภาพจำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าใครฟังด้วย ดังนั้น ธุรกิจดีไซน์ต้องกำหนดและเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ชัด ว่าบุคคลเหล่านั้นมีพื้นเพ ทัศนคติ ความสนใจและกำลังซื้อเบอร์ไหน รวมถึงฟันธงได้ว่าความเชี่ยวชาญของคุณแก้ปัญหาชีวิต (Pain Point) พวกเขาอย่างไร เพราะผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พลิกเรื่องยากให้ง่ายมักทำคะแนนไวกว่าคู่แข่งเสมอ
แบรนด์ควรรวบรวม Data ของผู้มีส่วนร่วมในช่องทางเชื่อมต่อต่างๆ (Touchpoint) มาวิเคราะห์ เพื่อตกตะกอนเป็น Customer Persona หรือโปรไฟล์สมมุติของลูกค้า โดย Persona คุณภาพต้องอิงจากข้อมูลคนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์จริงในปริมาณมากพอเท่านั้น เมื่อธุรกิจเข้าใจความต้องการและปัญหาเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมาย ก็จะสามารถเลือกภาษาและหัวข้อในการสื่อสาร ทำคอนเทนต์มัดใจ ตลอดจนถ่ายทอดบุคลิกภาพของแบรนด์ออกมาได้ตรงจุด แตกต่าง เข้าถึงคนฟังที่ใช่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
3. ปล่อยของแต่ละครั้ง คนฟังต้องเข้าถึง (Magic of Relevancy)
พอจุดพลุเปิดตัวออกมา กลุ่มเป้าหมายรับรู้ว่ามีตัวตน (Brand Awareness) ธุรกิจต้องเริ่มลงลึกกว่าการเล่าเรื่องและลดช่องว่างระหว่าง Brand Voice กับลูกค้า แนวทางสื่อสารที่ใช้ได้ดีทุกสมัยคือ Cognitive Fluency หรือเทคนิคเล่าเรื่องสไตล์ ‘คนกันเอง’ ซึ่งอาศัยการสร้างความคุ้นเคยผ่านเนื้อหาและ Solution ที่ฟังแล้วสบายใจ ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าแบรนด์เป็นพวกเดียวกันอย่างต่อเนื่อง
ธรรมชาติคนเรามักอยากฟังแต่สิ่งที่แมตช์กับความสนใจ ยิ่งถ้าออกจากปากคนพูดจาภาษาเดียวกัน ยิ่งคลิกและไปต่อง่าย แบรนด์ควรตั้งต้นจาก Insight ของกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารด้วยสำนวนที่พวกเขาอยากฟัง รวมทั้งพยายามเกลาสารให้กระชับ ย่อยง่าย ไม่ต้องถอดรหัสตีความให้เสียเวลา โดยคงจุดยืนและเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ เมื่อนำหลักการ Cognitive Fluency มาผสานกับเทคนิคเล่าเรื่องที่คนฟังว้าว ก็จะเพิ่ม Power ในการสร้างภาพจำและยอด Engagement ให้แบรนด์เหนือกว่าคู่แข่งในระยะยาว
4. อัตลักษณ์แตกต่าง สร้างด้วยภาพที่ดึงดูด (Visual Attraction)
สังเกตไหม รูปลักษณ์เป็นหนึ่งในคุณสมบัติแรกๆ ที่ดึงความสนใจให้คุณอยากรู้จักใครมากขึ้น นี่คือศาสตร์ Psychology of Attraction หรือจิตวิทยาสะกดกลุ่มเป้าหมายด้วยความงามของภาพและสี การสร้างอัตลักษณ์ที่มองเห็นด้วยตาเป็นกุญแจสำคัญในการสื่อสารจุดขาย และถ่ายทอดความพิเศษของแบรนด์สู่กลุ่มเป้าหมายท่ามกลางคู่แข่งมากมาย
สำหรับธุรกิจดีไซน์ที่คนคาดหวังเรื่องความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัว กลยุทธ์การตั้งชื่อแบรนด์ที่เฉียบคม ทำคอนเทนต์แปลกใหม่ ออกแบบโลโก้หรือกราฟฟิคให้สะดุดตา มีสไตล์ หรือใช้สีเชื่อมโยงกับตัวตนและกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจและการจดจำแบรนด์ได้กว่า 80% พอเสริมด้วยพลังการสื่อสารและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ จะยิ่งยกระดับให้แบรนด์โดดเด่น ไม่ซ้ำใคร ตอกย้ำอัตลักษณ์ในสายตาลูกค้าเก่าและใหม่ได้อย่างยั่งยืน
5. ผูกใจลูกค้าไว้ ให้เป็นตัวเลือกอันดับต้น (Brand Preference)
การสื่อสารคุณค่าของ Design Solution ผ่านภาพและเรื่องราวที่ร้อยเรียงมาอย่างมีกลยุทธ์ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายตรงจุด เป็นปัจจัยหลักในการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ แต่ทั้งนี้ ธุรกิจฝีมือดีที่ลูกค้ายังไม่พัฒนาความชื่นชอบในแบรนด์มากกว่าตัวเลือกอื่น (Brand Preference) ก็ถือว่าสร้างภาพลักษณ์และความประทับใจในสายตากลุ่มเป้าหมายได้ไม่มากพอ
นอกจากผลลัพธ์ปลายทาง ลูกค้าที่จ่ายค่าดีไซน์ยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์ระหว่างทางและหลังการขายมาก ลูกค้าอยากได้ธุรกิจที่มี
นโยบายและ Social Proof ว่ายินดีแก้ปัญหาเฉพาะบุคคล หรือมี Personalised Package ที่เหมาะสมกับกำลังทรัพย์และสเกลงานแต่ละโครงการ เพื่อให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่น จนสามารถลอยลำไปนั่งในใจอีกฝ่าย นำไปสู่การตัดสินใจใช้บริการ ซื้อซ้ำ และกลายเป็นลูกค้าประจำที่สนับสนุนธุรกิจไปตลอด
🙌🏽 Streamline Architectural Design Feedback with HTCH ("hatch") – 𝘺𝘰𝘶𝘳 𝘤𝘰𝘭𝘭𝘢𝘣𝘰𝘳𝘢𝘵𝘪𝘷𝘦 𝘸𝘰𝘳𝘬𝘱𝘭𝘢𝘤𝘦 𝘧𝘰𝘳 𝘢𝘳𝘤𝘩𝘪𝘵𝘦𝘤𝘵𝘶𝘳𝘦 𝘥𝘦𝘴𝘪𝘨𝘯 𝘪𝘯𝘯𝘰𝘷𝘢𝘵𝘪𝘰𝘯. 📐
✏️ Comment on anything, including 3D Models, PDFs, and Images, all in one place ✅
Learn more – https://www.htch.app/